วิทยาการคอมพิวเตอร์เรียนเกี่ยวกับอะไร
ในสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ จะศึกษาด้านต่างๆ
ที่เกี่ยวกับหลักการทำงานของคอมพิวเตอร์และรวมไปถึงการศึกษาในเชิงปฏิบัติเพื่อนำคอมพิวเตอร์ไปใช้งานต่างๆ
โดยศึกษาทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ตามหมวดหมู่ดังต่อไปนี้
หลักการหรือทฤษฏีการเขียนโปรแกรมและซอฟต์แวร์
นักศึกษาจะได้ศึกษาถึง วิธีการเขียนโปรแกรมด้วยภาษาต่างๆ
ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน ซึ่งภาษาที่ศึกษาหลักๆ ได้แก่ ภาษาซี ภาษาจาวา
ภาษาพีเฮชพี และภาษาเอสคิวแอล เป็นต้น
นอกจากนี้ยังศึกษาถึงหลักการเขียนโปรแกรมหรืออัลกอริธึม
และศึกษาว่ามีโครงสร้างข้อมูลอะไรบ้างที่ใช้ในการเขียนโปรแกรม รวมทั้งศึกษาว่า
ภาษาที่ใช้ในการโปรแกรมคอมพิวเตอร์มีกี่ประเภท แต่ละประเภทมีลักษณะเฉพาะอย่างไร
แตกต่างกันอย่างไร และศึกษาวิธีการแปลงภาษาระดับสูงที่มนุษย์เข้าใจ
ไปเป็นภาษาเครื่องที่คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจได้
รวมทั้งศึกษาวิธีการเขียนและออกแบบซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมที่จะเขียนด้วย
และศึกษาหลักการและการออกแบบระบบขนาดใหญ่
หลักการหรือทฤษฏีที่เกี่ยวกับโครงสร้างของคอมพิวเตอร์และการควบคุมคอมพิวเตอร์
นักศึกษาจะได้ศึกษาว่า คอมพิวเตอร์ประกอบด้วยวงจรไฟฟ้าแบบดิจิตอลอย่างไร
และศึกษาว่าคอมพิวเตอร์มีโครงสร้างหรือสถาปัตยกรรมเป็นแบบใด
และศึกษาว่านอกจากฮาร์ดแวร์แล้วคอมพิวเตอร์จำเป็นต้องมีโปรแกรมพื้นฐาน
ไว้ติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ใช้กับคอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่า ระบบปฏิบัติการหรือโอเอส
รวมทั้งศึกษาวงจรคอมพิวเตอร์เฉพาะงาน ที่เรียกว่าไมโครโปรเซสเซอร์
และศึกษาหลักการและวิธีการเข้ารหัส และการถอดรหัสคอมพิวเตอร์
ศึกษาการควบคุมความปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์
หลักการหรือทฤษฏีที่เกี่ยวกับการสื่อสารระหว่างคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์สื่อสาร
นักศึกษาจะได้ศึกษาถึง พื้นฐานของการสื่อสารข้อมูล โครงสร้างและโปรโตคอลของเครือข่ายคอมพิวเตอร์
(คอมพิวเตอร์เน็ตเวิร์ค) การนำคอมพิวเตอร์มาเชื่อมโยงกันเพื่อใช้งานร่วมกัน
รวมทั้งศึกษาถึง การนำคอมพิวเตอร์ไปให้บริการต่างๆ ทางอินเตอร์เน็ต
และเทคโนโลยีสารสนเทศบนเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา เช่น มือถือ เครื่องปาล์ม เป็นต้น
หลักการหรือทฤษฏีที่เกี่ยวกับการนำคอมพิวเตอร์ไปใช้ในงานด้านกราฟิก
มัลติเมเดีย
นักศึกษาจะได้ศึกษาถึง
การประยุกต์คณิตศาสตร์ไปใช้กับการออกแบบชิ้นงานที่มีรูปร่างต่างๆ
ซึ่งศาสตร์ด้านนี้รู้จักในชื่อของ ซอฟต์แวร์ประเภทแคด/แคม
รวมทั้งการนำคอมพิวเตอร์ไปจัดการกับภาพและเสียง
หลักการหรือทฤษฏีที่เกี่ยวกับการนำคอมพิวเตอร์ไปใช้ทำงานที่ชาญฉลาด
นักศึกษาจะได้ศึกษาถึง วิธีการสร้างระบบสารสนเทศที่มีความชาญฉลาด
หรือศาสตร์ที่ชื่อว่าปัญญาประดิษฐ์
ซึ่งจะศึกษาเกี่ยวกับระบบสารสนเทศที่เลียนแบบมนุษย์ เช่น ระบบผู้เชี่ยวชาญ
ระบบวิเคราะห์ภาพ ระบบวิเคราะห์เสียง เป็นต้น
หลักการหรือทฤษฏีที่เกี่ยวกับการทำงานของการคำนวณและการประยุกต์ใช้งานระดับสูง
นักศึกษาจะได้ศึกษาถึงหลักการที่คอมพิวเตอร์ใช้ในการคำนวณ
ซึ่งเป็นทฤษฏีระดับสูง และศึกษาการนำคอมพิวเตอร์ไปใช้งานระดับสูงซึ่งมีความยาก
เช่น การประยุกต์ไปใช้งานด้านชีวภาพ การประยุกต์ใช้งานมัลติเมเดียระดับสูง
การสกัดความรู้ที่สำคัญและน่าสนใจจากข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ เป็นต้น