วันพุธที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ป๋วย อึ๊งภากรณ์

ป๋วย อึ๊งภากรณ์
ศาสตราจารย์ พันตรี ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ (ชื่อจีน: 黃培謙 Huáng Péiqiān)
(9 มีนาคม พ.ศ. 2459 — 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2542) เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย เคยเป็นผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย สมาชิกขบวนการเสรีไทย และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับ รางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ในปี พ.ศ. 2508 และเป็นเจ้าของข้อเขียน "คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน"ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เกิดที่บ้านตรอกโรงสูบน้ำ ตลาดน้อย เป็นบุตรของซา แซ่อึ้ง กับเซาะเซ็ง อึ๊งภากรณ์ (สกุลเดิม: แซ่เตียว;ต่อมาได้เปลี่ยนนามสกุลเป็นภาษาไทยว่า ประสาทเสรี)[2] ชื่อ "ป๋วย" นั้น บิดาของป๋วยตั้งให้เป็นชื่อตัว ส่วนชื่อสกุลของป๋วย คือ "อึ้ง" ชื่อรุ่นคือ "เคียม" อ่านทั้งสามตัวตามลำดับประเพณีจีน สำเนียงแต้จิ๋วจะเป็น "อึ้ง ป้วย เคียม" แต่ถ้าอ่านโดดๆ วรรณยุกต์จะเปลี่ยนไป ชื่อสกุลเป็น "อึ๊ง" และชื่อตัวเป็น "ป๋วย" คำว่า "ป๋วย" แปลตรงตัวได้ว่า "พูนดินที่โคนต้นไม้" เพราะตัวประกอบในอักษรระบุไว้เช่นนั้น แต่มีความหมายกว้างออกไปอีกคือ "บำรุง" "หล่อเลี้ยง" "เพาะเลี้ยง" และ "เสริมกำลัง"
กูชายชาญชาติเชื้อชาตรี
กูเกิดมาก็ทีหนึ่งเฮ้ย
กูคาดก่อนสิ้นชี-วาอาตม์
กูจักไว้ลายเว้ยโลกให้แลเห็น
— ป๋วย อึ๊งภากรณ์
มารดาของป๋วย เป็นบุตรสาวคนแรกของเจ้าของร้านขายผ้าที่สำเพ็ง อยู่ใกล้ตรอกโรงโคม ส่วนบิดาเป็นคนจีน ทำงานช่วยพี่ชายที่แพปลา แถวปากคลองวัดปทุมคงคา ทั้งสองสามีภรรยาไม่ค่อยมีรายได้มากนัก แต่ก็ตั้งใจส่งลูกชายเข้าเรียน ที่แผนกภาษาฝรั่งเศส โรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีค่าเล่าเรียนแพง คือปีละ 70 บาทในสมัยนั้น. เมื่อเด็กชายป๋วยอายุได้เก้าขวบ บิดาของป๋วยก็เสียชีวิต โดยไม่มีทรัพย์สินเงินทองทิ้งไว้ให้ ลุงเป็นคนรับอุปการะ ส่งเสียเงินให้เป็นรายเดือน แม้ว่าจะมีปัญหาด้านการเงิน มารดาของป๋วย ก็สนับสนุนให้เรียนหนังสือที่เดิม จนสำเร็จการศึกษา ขณะอายุได้ 18 ปี ป๋วยได้มาเป็นมาสเตอร์ หรือครู ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ สอนวิชาคำนวณ และภาษาฝรั่งเศส มีรายได้เดือนละ 40 บาท แบ่งให้แม่ 30 บาท
ต่อมาในปี พ.ศ. 2477 ป๋วยได้สมัครเข้าเรียนต่อที่ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นนักศึกษารุ่นแรก ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีการบังคับให้เข้าชั้นเรียน ทางมหาวิทยาลัยได้จัดพิมพ์คำบรรยายออกจำหน่ายในราคาถูก วิชาละประมาณ 2 บาท เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนที่กำลังทำงานอยู่สามารถศึกษาเองได้ ป๋วยใช้เวลาในตอนค่ำและวันหยุดเรียนอยู่ 4 ปี ก็สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทางกฎหมายและการเมือง ในปี พ.ศ. 2480. หลังจากนั้น ก็ลาออกจากโรงเรียนอัสสัมชัญ มาทำงานเป็นล่ามภาษาฝรั่งเศส ให้แก่อาจารย์ชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่ง ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง
ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2481 ป๋วยสอบชิงทุนรัฐบาล ได้ไปเรียนระดับปริญญาตรี สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์และการคลัง ที่ London School of Economics & Political Science มหาวิทยาลัยลอนดอนซึ่งหลังจากนั้นอีกเพียง 6 เดือน มารดาของป๋วยก็เสียชีวิตลง
ป๋วยใช้เวลาสามปีก็สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ป๋วยเป็นนักเรียนดีเด่น และเป็นศิษย์เอกของ ศาสตราจารย์เฟรเดอริก ฮาเย็ก (ซึ่งได้รับ รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2517) ป๋วยเป็นคนไทยคนเดียว ในมหาวิทยาลัยนี้ ที่สอบได้คะแนนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง ในบรรดาเกียรตินิยมอันดับหนึ่งด้วยกันในปี พ.ศ. 2485 ได้เกรดเอแปดวิชา และเกรดบีหนึ่งวิชา