วันพุธที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin)

เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin) 



นักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับไฟฟ้า การพิมพ์ และการเกษตรบุคคลสำคัญของโลกอีกผู้หนึ่ง คือ “เบนจามิน แฟรงคลิน” (Benjamin Franklin) เป็นนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับไฟฟ้า การพิมพ์ และการเกษตร แม้เขาจะมีโอกาสเรียนหนังสือในโรงเรียนน้อยมาก แต่จากการเป็นนักอ่าน นักค้นคว้าและนักประดิษฐ์นี่เอง ทำให้เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้น

          เขาเกิดเมื่อวันที่ 17 มกราคม ปี ค.ศ.1706 ในประเทศอังกฤษ มีพี่น้องทั้งหมด 17 คน เขาเป็นคนที่ 15 บิดามีอาชีพเป็นคนผลิตเทียนไขกับสบู่ ครอบครัวได้ลี้ภัยทางศาสนาจากประเทศอังกฤษไปตั้งรกรากอยู่ในอเมริกา ซึ่งขณะนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษตั้งแต่เขายังอายุน้อย บิดาได้ส่งเขาเข้าเรียนในโรงเรียนซึ่งตั้งอยู่ใกล้บ้าน แต่ผลการเรียนไม่ค่อยดีนักเพราะอ่อนคำนวณ บิดาจึงให้ออกจากงานโรงเรียนมาช่วยงานทางบ้าน ซึ่งเขาไม่ค่อยชอบงานด้านนี้นัก เพราะชอบงานทางด้านหนังสือมากกวาา บิดาจึงส่งไปอยู่กับพี่ชายที่เมืองบอสตัน ซึ่งมีกิจการโรงพิมพ์เป็นของตัวเอง
          เบนจามิน แฟรงคลิน เริ่มฝึกงานช่างพิมพ์ด้วยเหตุว่าเขาสนใจงานด้านนี้มาก่อน จึงตั้งอกตั้งใจทำงานประกอบกับสนใจทางด้านหนังสือ จึงฝึกเขียนบทความลงในหนังสือ โดยสอดไว้ในกองต้นฉบับโดยไม่บอกให้พี่ชายทราบ เจมส์ซึ่งเป็นพี่ชายเมื่ออ่านดูก็ชอบใจและนำลงพิมพ์ออกสู่ท้องตลาดโดยไม่รู้ว่าเป็นฝีมือของใคร ข้อเขียนนั้นได้รับความนิยมอย่างสูง จนมีการลงพิมพ์ผลงานชิ้นอื่นๆ อีกหลายชิ้น แต่พอความจริงเปิดเผยออกมา เจมส์กลับโกรธมาก และไม่ยองลงเรื่องที่เบนจามินเขียนอีกเลย เมื่อขัดใจกับพี่ชายจึงลาออกจากงานเดินทางไปเมืองฟิลาเดลเฟีย เพื่อทำงานด้านการพิมพ์ของตัวเองขึ้นบ้าง
          ในขณะเดียวกันเขาก็เริ่มสนใจเกี่ยวกับไฟฟ้า โดยเฉพาะปรากฏการณ์ทางธรรมชาติคือฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และฟ้าผ่าซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีใครให้คำตอบที่ถูกต้องได้ ในปีพ.ศ.1752 จึงเริ่มค้นหาความจริงเกี่ยวกับไฟฟ้าในอากาศ โดยใช้วิธีชักว่าวขึ้นไปบนท้องฟ้าเวลาฝนตกซึ่งเป็นการทำที่เสี่ยงอันตรายมาก ว่าวของเขาทำจากผ้าแพรปิดบนโครง มีเหล็กแหลมติดที่ตัวว่าว ปลายสายผูกลูกกุญแจทองเหลืองและใช้ริบบิ้นผูกกับสายว่าวอีกทีหนึ่งเพื่อใช้เป็นที่จับ พอฝนเริ่มตั้งเค้า เขาก็เริ่มส่งว่าวขึ้นสู่ท้องฟ้า พอโดนฝนสายเชือกที่ชักว่าวก็เปียกโชก มันจึงกลายเป็นตัวนำไฟฟ้าที่ดี และไฟฟ้าในกลุ่มเมฆก็เคลื่อนที่จากตัวว่าวมาสู่ลูกกุญแจทางสายป่าน เบนจามินทราบดีว่าริบบิ้นเป็นฉนวนป้องกันไม่ให้ไฟฟ้าไหลผ่านเข้าสู่ตัวเขา ดังนั้นเขาจึงไม่ได้รับอันตรายจากการทดลองครั้งนี้
          เขาทำการทดลองต่อไป โดยเอาเศษหญ้าจ่อชิดลูกกุญแจ ก็เกิดประกายไฟจากลูกกุญแจมาสู่มือของเขา และเมื่อเขาลองเอากุญแจหย่อนลงเกือบถึงพื้นดิน ก็เกิดประกายไฟฟ้าระหว่างพื้นดินกับลูกกุญแจอีก เขาจึงลงความเห็นว่าไฟฟ้าที่มีอยู่ในอากาศนั่นเองเป็นตัวการทำให้เกิดฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และฟ้าผ่า การจะป้องกันอันตรายที่จะเกิดจากการถูกฟ้าผ่าก็คือการระบายประจุออกจากไฟฟ้าที่มีสะสมอยู่ในก้อนเมฆในอากาศให้ลดน้อยลง ซึ่งจะทำได้ก็โดยการใช้โลหะปลายแหลมและสายไฟฟ้าที่เป็นสื่อไฟฟ้าตั้งไว้ในที่สูงแล้วต่อมายังพื้นดิน และฝังส่วนปลายที่จ่อลงดินไว้กับแผ่นโลหะขนาดใหญ่ให้ลึกเพื่อเป็นการระบายประจุไฟฟ้า แต่ต้องไม่ให้สายที่ต่อนั้นโค้งงอจนเป็นมุมฉาก เพราะอาจเกิดการลัดวงจรได้ ซึ่งอุปกรณ์ชนิดนี้ซึ่งเรียกกันว่า “สายล่อฟ้า”
          นอกจากการคิดประดิษฐ์สายล่อฟ้าแล้ว เขาก็ยังมีความรอบรู้เกี่ยวกับเกษตร โดยเป็นคนแรกที่แนะให้เกษตรกรแก้ความเป็นกรดของดินโดยการโรยปูนขาว ซึ่งนับเป็นประโยชน์ในการเกษตรกรรมเป็นอันมาก
          จากการเป็นนักคิดนักประดิษฐ์นี่เอง ทำให้เขาได้รับการยกย่องและได้รับเกียรติจากราชสมาคมอังกฤษให้เข้าเป็นสมาชิกด้วย ซึ่งการเข้าเป็นราชสมาคมอังกฤษสมัยนั้นนับว่ายากที่สุด และสิ่งที่น่าสรรเสริญเกี่ยวกับตัวเขาอีกอย่างหนึ่งนั่นคือ ผลงานและสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ของเขานั้น ไม่เคยนำไปจดทะเบียนลิขสิทธิ์เลย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้อื่นมีสิทธิ์ที่จะประดิษฐ์สิ่งนั้นขึ้นใช้ได้ นอกจากจะไม่หวงผลงานแล้ว เขากลับส่งเสริมและแนะนำบุคคลอื่นๆ ให้มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เขารู้อีกด้วย นับว่าเขาเป็นคนที่น่ายกย่องสรรเสริญที่สุดคนหนึ่ง
          เมื่ออเมริกาได้รับอิสรภาพ เขาก็ได้รับการติดต่อให้เข้ารับตำแหน่งหน้าที่อันใหญ่โตผู้หนึ่งในคณะผู้บริหาร แต่เขาก็ตอบปฏิเสธไปโดยเห็นว่าตัวเองอายุมากแล้ว และอยากจะใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสงบกับงานเขียนและงานพิมพ์ที่เขาชื่นชอบ เขาถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1790 ขณะมีอายุได้ 84 ปี